วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี

ความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี
        จากความหมายของคำว่า "วิทยาศาสตร์" และความหมายของคำว่า "เทคโนโลยี" ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า วิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่นำไปใช้อธิบายได้ว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เช่น นักชีววิทยาจะอธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อขวั้นและขูดเปลือกของพืชยืนต้นออกจะมีรากงอกออกมาได้ นักฟิสิกส์ก็จะอธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อขดลวดตัดสนามแม่เหล็ก จึงมีกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้น เป็นต้น ส่วนเทคโนโลยีนั้นจะเป็นความรู้ว่าจะทำอย่างไร ตัวอย่างเช่น จะขยายพันธุ์พืชโดยการตอนได้อย่างไร จะผลิตกระแสไฟฟ้านำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร จะผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ โดยนำไฟฟ้ากระแสมาใช้ได้อย่างไร เหล่านี้ เป็นต้น
        จะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์เป็นตัวความรู้ ส่วนเทคโนโลยีนั้นเป็นการนำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติให้เกิดสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ วัดได้ หรือจับต้องได้ โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติ ต่าง ๆ มาใช้ในทางปฏิบัติ

เทคโนโลยีในสมัยโบราณ

เทคโนโลยีในสมัยโบราณ
        มนุษย์พยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด มากกว่าที่จะค้นหาความรู้ทางวิชาการที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็นอยากเข้าใจ การดำเนินชีวิตยังคงผันผวนไปตามธรรมชาติแวดล้อมโดยมนุษย์ไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขกลไกในธรรมชาติ ดังเช่นการเพาะปลูกที่ให้ผลิตผลสูงในช่วงต้นๆ ครั้นเมื่อดินจืด ผลิตผลเลวลงมนุษย์จะเผาป่า ย้ายไปหาที่เพราะปลูกใหม่ เฉพาะแถบริมฝั่งแม่น้ำ ที่น้ำท่วมพาโคลนมาทับถมทุกปีเท่านั้นที่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี แต่การที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดนี้เอง ผนวกกับความสามารถทางสติปัญญาทำให้มนุษย์เรียนรู้ทีละเล็กละน้อย ในอันที่จะเปลี่ยนแปลงกลไกธรรมชาติเพื่อปรับปรุงธรรมชาติแวดล้อมให้เหมาะกับการดำรงชีวิตของตน

เทคโนโลยี

เทคโนโลยี หรือ เทคนิควิทยา  มีความหมายค่อนข้างกว้าง โดยทั่วไปหมายถึง การนำความรู้ทางธรรมชาติวิทยาและต่อเนื่องมาถึงวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิธีการปฏิบัติและประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่างๆ อันก่อให้เกิดวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร แม้กระทั่งองค์ความรู้นามธรรมเช่น ระบบหรือกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีก่อเกิดผลกระทบต่อสังคมและในพื้นที่ที่มีเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องในหลายรูปแบบ เทคโนโลยีได้ช่วยให้สังคมหลาย ๆ แห่งเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้นซึ่งรวมทั้งเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ในหลาย ๆ ขั้นตอนของการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีได้ก่อให้ผลผลิตที่ไม่ต้องการ หรือเรียกว่ามลภาวะ เกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างที่ถูกนำมาใช้มีผลต่อค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคม เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นก็มักจะถูกตั้งคำถามทางจริยธรรม